ความเป็นมาของ Halo

“วัคซีนที่มีไว้เพื่อป้องกันโรคนั้นดีกว่ายารักษาโรคฉันใด สิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตนักแข่งไว้ได้ก็ย่อมดี
ฉันนั้น” Sir Jackie Stewart ตำนานวงการดีกรีแชมป์โลก Formula 1 ถึง 3 สมัยได้กล่าวไว้เมื่อตอนถือกำเนิดอุปกรณ์ความปลอดภัยบริเวณเหนือศีรษะของนักแข่งที่เรียกว่า “Halo” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการแข่งขัน Formula 1

หลังการเสียชีวิตของ Roland Ratzenberger และ Ayrton Senna ตำนานนักแข่งชื่อดังระดับโลกที่ San Marino Grand Prix ในปี 1994 ด้วยระยะเวลาห่างกันเพียงวันเดียว ทำให้สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติหรือ FIA และฝ่ายจัดการแข่งขัน Formula 1 ได้มีการประชุมใหญ่ถึงระบบความปลอดภัยในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวรถ เพื่อทำให้การแข่งขัน Formula 1 นั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะสมัยก่อนมีเพียงหมวกกันน็อกเท่านั้นที่เป็นเกราะป้องกันจากวัตถุต่างๆ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในบางเหตุการณ์ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งภยันตรายไว้ได้

อย่างเช่น ในปี 2009 Felipe Massa อดีตรองแชมป์โลก Formula 1 ประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในการแข่งขันที่ Hungaroring ประเทศ Hungary เมื่อมีชิ้นส่วนหลุดจากรถคันอื่นพุ่งเข้าใส่อย่างจังจน
กระโหลกศีรษะร้าว ทำให้ต้องพักการแข่งขันไปตลอดทั้งฤดูกาล แต่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีเหมือนนักแข่งชาวบราซิลคนนี้ เพราะในอีก 5 ปีถัดมาที่ Suzuka Circuit ประเทศญี่ปุ่น รถของ Jules Bianchi นักขับชาวฝรั่งเศสขณะเสียการควบคุมท่ามกลางสายฝน ก่อนพุ่งเสียบท้ายรถที่จอดยกรถอีกคันซึ่งประสบอุบัติเหตุก่อนหน้า เขาอยู่ในอาการโคม่าถึง 9 เดือน ก่อนเสียชีวิตในปี 2015 การสูญเสียดังกล่าว รวมถึงการเสียชีวิตของนักขับในการแข่งรถล้อเปิดรายการอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องคิดหาหนทางใหม่ที่จะช่วยลดอันตรายที่เกิดกับนักกีฬา เพื่อเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะได้ไม่เกิดซ้ำรอยอีก 

ด้วยการศึกษาจากหลายฝ่าย แม้จะได้ข้อสรุปตรงกันว่าต้องมีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในส่วนหน้ารถก่อนถึงตำแหน่งนักขับ แต่กว่าที่จะได้ข้อสรุปสุดท้ายที่เป็น “Halo” ก็กินระยะเวลาถึงหลายปีเลยทีเดียว ซึ่ง Halo นั้นถือเป็นไอเดียแรกที่เกิดขึ้นในปี 2015 โดยทีม Mercedes-AMG มหาอำนาจแห่งวงการรถสูตรหนึ่งในยุคปัจจุบัน ต้นแบบตัวแรกของ Halo นั้นทำมาจากเหล็ก ซึ่งสามารถรับแรงกระแทกจากยางน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ที่พุ่งเข้าใส่ด้วยความเร็วถึง 225 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ ก่อนที่จะมีการพัฒนาต้นแบบตัวที่สองในปีถัดมา โดยมีดีไซน์ที่เพรียวลงจากตัวแรกเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ทัศนวิสัยของนักขับดียิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม Halo ก็ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเดียวที่ถูกนำเสนอ เพราะได้มีการพัฒนาตัวเลือกอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยทีม Red Bull Racing ได้ออกแบบ Aeroscreen ขึ้นในปี 2016 มีลักษณะเป็นแผ่นกระจกตีขึ้นมาเพื่อปกป้องช่วงหน้าของศีรษะ ทว่าในปี 2017 พวกเขาได้สร้างอีกทางเลือกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Shield ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ Aeroscreen แต่ไอเดียดังกล่าวไม่ได้รับตอบสนองจากทาง FIA มากเท่าไหร่นัก เพราะหลังจากการทดสอบเพียงไม่กี่ครั้ง FIA ก็ต้องล้มเลิกแนวคิดดังกล่าว เมื่อผู้ทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวเผยว่า มุมมองที่เห็นผ่าน Shield ทำให้รู้สึกวิงเวียน 

เมื่อเป็นเช่นนั้นทาง FIA จึงได้ข้อสรุปว่า Halo จะเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยใหม่ที่ติดกับรถ Formula 1 ทุกคัน รวมถึงซีรี่ส์อื่นๆ อย่าง Formula 2 ตั้งแต่ฤดูกาล 2018 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับศึก Formula E จะเริ่มใช้แข่งขันตั้งแต่ฤดูกาล 2018-19 ขณะที่ Formula 3 เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 2019 

แม้ทาง FIA จะมีมติให้ใช้ Halo แล้วก็ตาม ทว่ากลับมีนักขับและแฟนกีฬาหลายรายที่ต่อต้านไอเดียการใช้อุปกรณ์นี้ตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการทดสอบทั้งเรื่องทัศนวิสัย รวมถึงความเคลือบแคลงสงสัยว่า มันจะทำให้นักแข่งปลอดภัยได้จริงหรือไม่ ก่อนที่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจะมาถึงในการแข่งขันที่ Spa-Francorchamps เมื่อเกิดอุบัติเหตุในการแข่งขันรอบแรกรถของ Nico Hülkenberg ชนท้าย Fernando Alonso จนรถของแชมป์โลกรถสูตรหนึ่ง 2 สมัยลอยข้ามรถของ Charles Leclerc แต่เดชะบุญที่ไปเจอกับ Halo เสียก่อน ทำให้ Leclerc ไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงเลย ซึ่งข้อมูลที่ทาง FIA เปิดเผยหลังจบการแข่งขันระบุว่า แรงที่ส่วน Halo ของรถ Leclerc ที่ได้รับจากรถของ Alonso นั้นสูงถึง 56 กิโลนิวตัน หรือเทียบเท่าน้ำหนัก 5 ตันเลยทีเดียว แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของ Halo ทันที อย่างไรก็ตามในสนามต่อมาที่ Monza Halo ก็ได้แสดงผลงานอีกครั้งเมื่อรถของ Marcus Ericsson เสียการควบคุมในความเร็วสูงจนหลุดโค้งตีลังกาหลายตลบ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวได้มีส่วนช่วยให้นักขับชาวสวีเดนผู้นี้ออกจากรถได้อย่างไร้รอยขีดข่วน

แม้จะได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามแต่ Charlie Whiting ผู้ควบคุมการแข่งขันและหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ Formula 1 ในขณะนั้นก็ยืนยันว่าจะมีการพัฒนาปรับปรุงในส่วนของ Halo ต่อไปเพื่อให้มีความกลมกลืนกับตัวรถและเป็นมิตรต่อนักขับมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นทีมงานที่ดูแลเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยในการแข่ง Formula 1 ยังต้องค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยชีวิตนักแข่งอย่างต่อเนื่อง

เพราะในปี 2020 อีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงคุณูปการของ Halo ก็บังเกิดอีกครั้งในการแข่งที่ Bahrain Grand Prix เพราะหลังจากออกสตาร์ทเพียงไม่กี่โค้ง รถของ Romain Grosjean ได้ปีนล้อรถของ Daniil Kvyat จนเสียการควบคุมพุ่งใส่กำแพงเต็มแรงจนรถขาดเป็น 2 ท่อน เกิดไฟลุกท่วมแม้ภาพที่ออกมาจะน่ากลัวมากในสายตาทุกคน แต่เพียงเวลาไม่กี่วินาทีหลังเกิดอุบัติเหตุ Grosjean ก็สามารถปีนซากรถออกมาได้ด้วยตัวเองโดยมีเพียงแผลไหม้ที่มือกับข้อเท้าเท่านั้น เมื่อย้อนไปดูที่ซากรถซึ่งขาดเป็นสองท่อนก็พบว่า Halo นั้นคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะอุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวได้ช่วยป้องกันศีรษะของ Grosjean ไม่ให้กระแทกเข้ากับกำแพงรั้ว อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยเปิดช่องให้นักขับออกจากซากรถด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.mainstand.co.th/catalog/6-VEHICLE/174

ข้อมูลเพิ่มเติม : ในปี 2022 ที่จะถึงนี้ ทาง FIA จะมีการบังค้บใช้ HALO ในรถ Formula 4 อีกด้วย

Start a Conversation

Your email address will not be published. Required fields are marked *