Category: TSS LIBRARY

ถอดรหัสความซับซ้อนของพวงมาลัยรถ Formula 1

กล่าวกันว่า “ไม่มีกีฬาใดเหมือน Formula 1 อีกแล้วถึงแม้ว่าจะมีกีฬา Motorsport อื่นๆ ที่ยากลำบากก็ตาม” ด้วยเหตุผลยกให้ Formula 1 เป็นสุดยอดแห่ง Motorsport นั้นเนื่องจากนักแข่งต้องพารถของตนฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ อันดุเดือด รวมทั้งกระบวนการการทำงานของรถนับพันประการในขณะที่รถนั้นวิ่งอยู่ ความต้องการเหล่านั้นไม่ได้มาจาก Pit Wall หรือเหล่าวิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังเท่านั้น หากแต่มาจากเจ้าชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ผลิตมาจาก คาร์บอนไฟเบอร์ ที่มีราคาสูงลิบ สิ่งนั้นคือ พวงมาลัย นั่นเอง

จะมาพูดถึงส่วนต่างๆ อันสลับซับซ้อนของพวงมาลัย Formula 1 เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจมากขึ้น เช่น strat, entry, mark, overtake ไปถึง DRS รวมทั้งปุ่มบนพวงมาลัยเหล่านี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง

• Strat Settings
ในทุกๆ เรซล้วนมีลักษณะเฉพาะสนามที่แตกต่างกันไป จึงต้องมีการวางแผนทั้งนักแข่งรวมถึงวิศวกรไว้หลายวิธีด้วยกัน ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น

• MGU-K Settings
ระบบส่งกำลังของ Formula 1 เป็นหนึ่งในระบบที่ซับซ้อนที่สุดในโลก เพื่อให้แน่ใจว่านักแข่งสามารถแก้ไขข้อบกพร่องต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยตนเองในระหว่างการแข่งขัน วิศวกรของทีมจึงได้ออกแบบการปรับเครื่องยนต์ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งนักแข่งสามารถควบคุมสวิตช์แบบบิดหมุนได้ผ่านทางพวงมาลัย เช่น สภาพอากาศที่เปียกชื้นเป็นผลทำให้กำลังลดลง แม้แต่ควบคุมกำลังของรถในช่วงระหว่างแข่ง หรือตอน Qualify ตลอดจนพลังงานเชื้อเพลิงต่ำลง หรือพลังงานขัดข้องก็ตาม

• Menu
เมนูนี้จะช่วยให้นักแข่งสามารถควบคุมระบบของรถเกือบทั้งหมดได้ รวมทั้งเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกทุกอย่างผ่านทางเมนู

• Accept
เปรียบได้กับปุ่ม “Enter” บนพวงมาลัย หากมีการเปลี่ยนแปลงจากเมนู หรือการตั้งค่าอื่นๆ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที

• Mark
เมื่อมีปัญหากับส่วนกลาง, ด้านหน้าของรถ หรือที่ใดก็ตามในสนามแข่ง นักแข่งสามารถทำเครื่องหมาย ณ จุดนั้น เพื่อบันทึกข้อมูลลงไปทำให้นักแข่งสามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นไปปรึกษากับวิศวกรในทีมได้

• Differential Balance
ถูกควบคุมด้วยชุดปุ่มที่สามารถเลื่อนได้เพื่อควบคุมการตั้งค่า Entry, Mid และ Exit ซึ่งช่วยให้นักแข่งสามารถเปลี่ยนสมดุลไปทางซ้ายหรือขวาได้ตลอดการแข่งขัน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีการสมดุลที่ดีที่สุดในทุกๆ โค้ง

• Brake Balance
เป็นปุ่มที่สามารถเลื่อนได้เช่นกัน ซึ่งนักแข่งสามารถปรับเปลี่ยนความสมดุลของเบรกทั้งด้านหน้าและด้านหลังได้ตลอดการแข่งขัน เพื่อให้แน่ใจว่ามีความสมดุลที่ดีที่สุดในทุกๆ โค้ง

• Energy Recovery
ในบางกรณีที่เรียกว่า Harvest จะอนุญาตให้นักแข่งสามารถกู้คืนพลังงานบางส่วนที่เกิดขึ้นระหว่างการเบรก และเก็บไว้ในระบบไฮบริดของรถเพื่อนำมาใช้ในภายหลัง

• Race Start
เป็นปุ่มที่ใช้ตั้งค่าจำกัดความเร็วเฉพาะ เพื่อให้การเข้าโค้งแรกของการแข่งขันนั้นสมบูรณ์แบบที่สุด

• Neutral
จะมีการเปิดใช้ก็ต่อเมื่อเกียร์บ๊อกซ์ปกติได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ตามปกติ

• Pit-Lane Speed
ปุ่มที่จำกัดความเร็วของรถเมื่อเข้าสู่ Pit-Lane เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดได้

• Pit Confirm
หลังจากได้ยินคำสั่ง “Box, Box, Box” นักแข่งสามารถยืนยันในการเข้า Pit ด้วยปุ่มนี้ได้

• Radio
ปุ่มที่นักแข่งใช้สื่อสารกับทีมงานในพิท

• Drink
ในระหว่างการแข่งขันแต่ละครั้งนักแข่งจะสูญเสียน้ำในร่างกายมากถึง 5-7 ปอนด์ เมื่อกดปุ่มนี้จะเป็นการเติมพลังงานให้กับนักแข่งทันที

• Overtake
บางครั้งเรียกกันว่า Push to Pass ช่วยให้นักแข่งมีกำลังเครื่องยนต์และไฮบริดเพิ่มขึ้นชั่วขณะเพื่อไปให้ถึงรถคันที่อยู่ด้านหน้าได้

• DRS
มาจากคำว่า Drag-Reduction System ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะสำหรับแอโรไดนามิกที่ใช้งานอยู่ ในกรณีของ Formula 1 เมื่อนักแข่งกดปุ่ม DRS บนพวงมาลัย และต้องอยู่ห่างจากรถคันหน้าไม่เกิน 1 วินาที อีกทั้งต้องอยู่ในโซน DRS ที่กำหนดไว้ ส่วนตรงกลางของปีกหลังจะเปิดขึ้นซึ่งจะช่วยลดแรงต้านได้ เมื่อเปิด DRS จะทำให้นักแข่งสามารถทำความเร็วได้เพิ่มขึ้น

• Other Secret Buttons
นอกจากปุ่มต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีต่อการแข่งขันแล้ว ก็ยังมีปุ่มที่ออกแบบไว้อีกมากมายให้เหมาะสำหรับความลับในแง่ของการออกแบบ และการติดตั้ง ตลอดจนความต้องการของนักแข่งในแต่ละทีม

• Paddles
มักจะแบ่งออกเป็น 3 ชุดภายในพวงมาลัย Formula 1 แต่นักแข่งและทีมงานของแต่ละทีมอาจมีการตั้งค่า แตกต่างกันออกไปตามความถนัดและการออกแบบ ซึ่งด้านบนสามารถตั้งค่าให้นักแข่งเข้าถึงการตั้งค่าเชิงกลยุทธ์ การตั้งค่าเครื่องยนต์ หรือ DRS ได้อย่างรวดเร็ว ชุดกลางมีไว้สำหรับให้นักแข่งใช้เปลี่ยนเกียร์ และชุดล่างมีไว้สำหรับคลัทช์ ซึ่งใช้ในช่วงเริ่มการแข่งขัน หรือการวอร์มยาง

• Handles
เป็นด้ามจับบนพวงมาลัย จะถูกหล่อขึ้นรูปตามมือของนักแข่ง

• Quick-Release Hub
สิ่งนี้จะช่วยให้นักแข่งสามารถเข้าและออก Cockpit ได้ง่ายขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ก็ตาม

• Display
จอแสดงผลสำหรับนักแข่ง Formula 1 หน้าจอจะแสดงข้อมูลการวัดระยะทาง เกียร์ในปัจจุบัน เวลาต่อรอบ อีกทั้งเดลต้าไปยังด้านหน้าและด้านหลังรถ สถานะการชาร์จของแบตเตอรี่ เมนู และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพและปัญหาของรถ รวมถึงระบบเทเลเมติกส์อื่นๆ และทั้งหมดนี้สามารถประมวลผลออกมาได้อย่างรวดเร็ว จอแสดงผลนั้นอาจติดตั้งอยู่ที่พวงมาลัยหรือบนแผงหน้าปัดของรถแข่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัด และการออกแบบของทีมงานกับนักแข่ง

• RPM-Indicator LEDs
ไฟ LED สำหรับแสดงสถานะให้นักแข่งทราบเมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเกียร์ นักแข่งมักจะมีการตั้งค่าในสีต่างๆ เพื่อแสดงถึง RPM ที่ต่ำและสูง สิ่งเหล่านี้จะอยู่บริเวณด้านบนของล้อหรือบริเวณแผงหน้าปัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า การออกแบบ และความถนัดของนักแข่ง 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
https://www.thedrive.com/…/how-does-an-f1-steering…
และตัวอย่างพวงมาลัยสุดล้ำจาก Mercedes-AMG Petronas F1 Team 

ความเป็นมาของ Halo

“วัคซีนที่มีไว้เพื่อป้องกันโรคนั้นดีกว่ายารักษาโรคฉันใด สิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตนักแข่งไว้ได้ก็ย่อมดี
ฉันนั้น” Sir Jackie Stewart ตำนานวงการดีกรีแชมป์โลก Formula 1 ถึง 3 สมัยได้กล่าวไว้เมื่อตอนถือกำเนิดอุปกรณ์ความปลอดภัยบริเวณเหนือศีรษะของนักแข่งที่เรียกว่า “Halo” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการแข่งขัน Formula 1

หลังการเสียชีวิตของ Roland Ratzenberger และ Ayrton Senna ตำนานนักแข่งชื่อดังระดับโลกที่ San Marino Grand Prix ในปี 1994 ด้วยระยะเวลาห่างกันเพียงวันเดียว ทำให้สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติหรือ FIA และฝ่ายจัดการแข่งขัน Formula 1 ได้มีการประชุมใหญ่ถึงระบบความปลอดภัยในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวรถ เพื่อทำให้การแข่งขัน Formula 1 นั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะสมัยก่อนมีเพียงหมวกกันน็อกเท่านั้นที่เป็นเกราะป้องกันจากวัตถุต่างๆ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในบางเหตุการณ์ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งภยันตรายไว้ได้

อย่างเช่น ในปี 2009 Felipe Massa อดีตรองแชมป์โลก Formula 1 ประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในการแข่งขันที่ Hungaroring ประเทศ Hungary เมื่อมีชิ้นส่วนหลุดจากรถคันอื่นพุ่งเข้าใส่อย่างจังจน
กระโหลกศีรษะร้าว ทำให้ต้องพักการแข่งขันไปตลอดทั้งฤดูกาล แต่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีเหมือนนักแข่งชาวบราซิลคนนี้ เพราะในอีก 5 ปีถัดมาที่ Suzuka Circuit ประเทศญี่ปุ่น รถของ Jules Bianchi นักขับชาวฝรั่งเศสขณะเสียการควบคุมท่ามกลางสายฝน ก่อนพุ่งเสียบท้ายรถที่จอดยกรถอีกคันซึ่งประสบอุบัติเหตุก่อนหน้า เขาอยู่ในอาการโคม่าถึง 9 เดือน ก่อนเสียชีวิตในปี 2015 การสูญเสียดังกล่าว รวมถึงการเสียชีวิตของนักขับในการแข่งรถล้อเปิดรายการอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องคิดหาหนทางใหม่ที่จะช่วยลดอันตรายที่เกิดกับนักกีฬา เพื่อเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะได้ไม่เกิดซ้ำรอยอีก 

ด้วยการศึกษาจากหลายฝ่าย แม้จะได้ข้อสรุปตรงกันว่าต้องมีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในส่วนหน้ารถก่อนถึงตำแหน่งนักขับ แต่กว่าที่จะได้ข้อสรุปสุดท้ายที่เป็น “Halo” ก็กินระยะเวลาถึงหลายปีเลยทีเดียว ซึ่ง Halo นั้นถือเป็นไอเดียแรกที่เกิดขึ้นในปี 2015 โดยทีม Mercedes-AMG มหาอำนาจแห่งวงการรถสูตรหนึ่งในยุคปัจจุบัน ต้นแบบตัวแรกของ Halo นั้นทำมาจากเหล็ก ซึ่งสามารถรับแรงกระแทกจากยางน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ที่พุ่งเข้าใส่ด้วยความเร็วถึง 225 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ ก่อนที่จะมีการพัฒนาต้นแบบตัวที่สองในปีถัดมา โดยมีดีไซน์ที่เพรียวลงจากตัวแรกเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ทัศนวิสัยของนักขับดียิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม Halo ก็ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเดียวที่ถูกนำเสนอ เพราะได้มีการพัฒนาตัวเลือกอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยทีม Red Bull Racing ได้ออกแบบ Aeroscreen ขึ้นในปี 2016 มีลักษณะเป็นแผ่นกระจกตีขึ้นมาเพื่อปกป้องช่วงหน้าของศีรษะ ทว่าในปี 2017 พวกเขาได้สร้างอีกทางเลือกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Shield ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ Aeroscreen แต่ไอเดียดังกล่าวไม่ได้รับตอบสนองจากทาง FIA มากเท่าไหร่นัก เพราะหลังจากการทดสอบเพียงไม่กี่ครั้ง FIA ก็ต้องล้มเลิกแนวคิดดังกล่าว เมื่อผู้ทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวเผยว่า มุมมองที่เห็นผ่าน Shield ทำให้รู้สึกวิงเวียน 

เมื่อเป็นเช่นนั้นทาง FIA จึงได้ข้อสรุปว่า Halo จะเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยใหม่ที่ติดกับรถ Formula 1 ทุกคัน รวมถึงซีรี่ส์อื่นๆ อย่าง Formula 2 ตั้งแต่ฤดูกาล 2018 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับศึก Formula E จะเริ่มใช้แข่งขันตั้งแต่ฤดูกาล 2018-19 ขณะที่ Formula 3 เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 2019 

แม้ทาง FIA จะมีมติให้ใช้ Halo แล้วก็ตาม ทว่ากลับมีนักขับและแฟนกีฬาหลายรายที่ต่อต้านไอเดียการใช้อุปกรณ์นี้ตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการทดสอบทั้งเรื่องทัศนวิสัย รวมถึงความเคลือบแคลงสงสัยว่า มันจะทำให้นักแข่งปลอดภัยได้จริงหรือไม่ ก่อนที่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจะมาถึงในการแข่งขันที่ Spa-Francorchamps เมื่อเกิดอุบัติเหตุในการแข่งขันรอบแรกรถของ Nico Hülkenberg ชนท้าย Fernando Alonso จนรถของแชมป์โลกรถสูตรหนึ่ง 2 สมัยลอยข้ามรถของ Charles Leclerc แต่เดชะบุญที่ไปเจอกับ Halo เสียก่อน ทำให้ Leclerc ไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงเลย ซึ่งข้อมูลที่ทาง FIA เปิดเผยหลังจบการแข่งขันระบุว่า แรงที่ส่วน Halo ของรถ Leclerc ที่ได้รับจากรถของ Alonso นั้นสูงถึง 56 กิโลนิวตัน หรือเทียบเท่าน้ำหนัก 5 ตันเลยทีเดียว แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของ Halo ทันที อย่างไรก็ตามในสนามต่อมาที่ Monza Halo ก็ได้แสดงผลงานอีกครั้งเมื่อรถของ Marcus Ericsson เสียการควบคุมในความเร็วสูงจนหลุดโค้งตีลังกาหลายตลบ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวได้มีส่วนช่วยให้นักขับชาวสวีเดนผู้นี้ออกจากรถได้อย่างไร้รอยขีดข่วน

แม้จะได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามแต่ Charlie Whiting ผู้ควบคุมการแข่งขันและหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ Formula 1 ในขณะนั้นก็ยืนยันว่าจะมีการพัฒนาปรับปรุงในส่วนของ Halo ต่อไปเพื่อให้มีความกลมกลืนกับตัวรถและเป็นมิตรต่อนักขับมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นทีมงานที่ดูแลเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยในการแข่ง Formula 1 ยังต้องค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยชีวิตนักแข่งอย่างต่อเนื่อง

เพราะในปี 2020 อีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงคุณูปการของ Halo ก็บังเกิดอีกครั้งในการแข่งที่ Bahrain Grand Prix เพราะหลังจากออกสตาร์ทเพียงไม่กี่โค้ง รถของ Romain Grosjean ได้ปีนล้อรถของ Daniil Kvyat จนเสียการควบคุมพุ่งใส่กำแพงเต็มแรงจนรถขาดเป็น 2 ท่อน เกิดไฟลุกท่วมแม้ภาพที่ออกมาจะน่ากลัวมากในสายตาทุกคน แต่เพียงเวลาไม่กี่วินาทีหลังเกิดอุบัติเหตุ Grosjean ก็สามารถปีนซากรถออกมาได้ด้วยตัวเองโดยมีเพียงแผลไหม้ที่มือกับข้อเท้าเท่านั้น เมื่อย้อนไปดูที่ซากรถซึ่งขาดเป็นสองท่อนก็พบว่า Halo นั้นคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะอุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวได้ช่วยป้องกันศีรษะของ Grosjean ไม่ให้กระแทกเข้ากับกำแพงรั้ว อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยเปิดช่องให้นักขับออกจากซากรถด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.mainstand.co.th/catalog/6-VEHICLE/174

ข้อมูลเพิ่มเติม : ในปี 2022 ที่จะถึงนี้ ทาง FIA จะมีการบังค้บใช้ HALO ในรถ Formula 4 อีกด้วย

ทำความรู้จักกับ Asphalt run-off zones

Run-off area มีไว้สำหรับรองรับความปลอดภัยในกรณีที่นักแข่งนั้นหลุดออกนอกแทร็คการแข่งขัน ซึ่ง Run-off area นั้นมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น บ่อกรวด, หญ้า ตลอดจน แอสฟัลท์ (Asphalt)

สำหรับคำว่า Asphalt (แอสฟัลท์) หรือ Binder (ไบน์เดอร์) เป็นศัพท์ที่ชาวอเมริกันใช้เรียกยางมะตอย แต่ชาวอังกฤษจะเรียกว่า Bitumen (บิทูเมน) เป็นวัสดุที่เกิดในธรรมชาติและผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมัน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจาก 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ หินแอสฟัลท์ในธรรมชาติ (Rock Asphalt) ที่นำมาเผาเพื่อเอาแอสฟัลท์ออกมาจากแหล่งใต้ดิน ที่เป็นโดยบ่อแอสฟัลท์อยู่ลึกลงไปในดิน Lake Asphalt มีมากใน Trinidad ในสหราชอาณาจักร และจากการกลั่นน้ำมันดิบ หลังจากกลั่นเอาเบนซินและดีเซลออกไปที่เหลืออยู่จะได้ยาง แอสฟัลท์แข็ง (Asphalt Cement, AC.) ที่มีความเข้มข้นและแข็งต่างกันไปตามสภาพของแหล่งกำเนิด

Asphalt run-off zones คือ นวัตกรรมที่รองรับด้านความปลอดภัยในสนาม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการยึดเกาะสูง และช่วยชะลอความเร็วของรถแข่งได้ในกรณีที่หลุดออกจากนอกแทร็ค ซึ่งภายใน Asphalt run-off zones จะมีแรงยึดเกาะที่แตกต่างกันออกไปโดยแยกตามสี ยกตัวอย่างเช่น ภายในสนาม Circuit Paul Ricard นั้น Asphalt run-off zones มีสีสันสวยงามมาก และที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน นั่นคือ สนามแห่งนี้ไม่มีบ่อกรวด โดยมีเส้นสีฟ้าหรือเรียกว่า Blue Line concept นั้นเป็น High grip run-off zone

เมื่อรถแข่งของนักแข่งที่หลุดออกนอกแทร็คจะมีแรงที่ยึดเกาะให้รถที่หลุดออกนอกแทร็คให้ช้าลงได้ โดยไม่ทำให้ตัวรถได้รับความเสียหาย แต่ถ้าหากหลุดออกนอกแทร็คบ่อยจะส่งผลต่อยางให้เกิด
การสึกหรอมากขึ้น และเส้นสีแดงนั้นเรียกว่า Ultra-high grip ซึ่งมีคุณสมบัติที่ยึดเกาะได้มากกว่า แต่ก็ทำให้ยางเกิดการสึกหรอมากกว่าเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Facebook Fanpage : F1 Thailand Fanclub

รถยนต์บินได้

หากมีใครพูดถึง “รถยนต์บินได้” เราคงจะนึกถึงแต่ในภาพยนตร์ และคงคิดในใจว่าไม่มีทางเป็นไปได้ในชีวิต แต่วันนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว นั่นคือ “AirCar” ออกแบบโดย Stefan Klein ผู้ก่อตั้ง “Klein Vision” บริษัทวิจัยและพัฒนารถยนต์จากสโลวาเกีย

“AirCar” มีลักษณะเหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่มีปีกเครื่องบินซ่อนอยู่ด้านข้างของรถ และมีปลายหาง
เหมือนเครื่องบินที่สามารถยืดหดได้ เป็นยานพาหนะแบบ 2 ที่นั่ง (สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 200 กิโลกรัม) มาพร้อมกับเครื่องยนต์ BMW ที่มีกำลัง 160 แรงม้า และมีกลไกใบพัดที่ช่วยในการเหินฟ้า เสริมด้วยร่มชูชีพแบบ Ballistic ไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉิน

“AirCar” ถูกนำมาทดสอบบินครั้งแรกในปี 2019 และได้มีการพัฒนาโดยตลอดจนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางผู้พัฒนาได้จัดการทดสอบ การบินข้ามเมืองจากสนามบินในเมือง Nitra ไปยังสนามบินในเมือง Bratislava ขึ้นเป็นครั้งแรก ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเพียง 35 นาที ด้วยความเร็วในการบินราว 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนระดับความสูง 2,500 เมตร และสามารถเปลี่ยนสภาพจากรถกลายเป็นเครื่องบินได้ภายใน 2:15 นาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม “AirCar” ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่การขึ้นหรือลงจอดนั้นต้องอาศัยรันเวย์สนามบินเท่านั้น อีกทั้งบริษัทยังเตรียมเดินหน้าพัฒนา “AirCar” ต้นแบบรุ่นที่ 2 ซึ่งมีกำลังเครื่องยนต์ที่มากถึง 300 แรงม้า พร้อมด้วยใบรับรองอากาศยาน EASA CS-23 และใบอนุญาตขับขี่บนท้องถนนประเภท M1 กล่าวคือ สามารถใช้เป็นพาหนะส่วนบุคคลได้นั่นเอง

เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ Klein Vision ได้วิจัยและพัฒนารถยนต์บินได้ นี่คือบทพิสูจน์ที่เปลี่ยน ภาพยนตร์ Sci-fi ที่เคยมีอยู่เฉพาะในจินตนาการให้กลายเป็นความจริง น่าติดตามตอนต่อไปว่ารถยนต์บินได้นั้นจะออกมาอย่างไร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงการเดินทางของมนุษย์ในอนาคตไปได้มากแค่ไหน?

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
https://www.unlockmen.com/aircar/
https://www.bbc.com/news/technology-57651843

หรือดูคลิปประกอบได้ที่ https://fb.watch/v/21rOrULMA/

“สุดยอดสนามแข่งระดับโลก” ที่คนรักความเร็วห้ามพลาด!! ต้องไปเยือนสักครั้งในชีวิต

Indianapolis Motor Speedway, USA

มี Layout สนามอยู่ 2 แบบด้วยกัน นั่นคือ “Rectangular Oval Track” มีระยะทาง 4.023 กิโลเมตร ประกอบด้วยโค้งทั้งหมด 4 โค้ง เป็นการวิ่งแบบทวนเข็มนาฬกา และ “Grand Prix Road Course” มีระยะทาง 3.925 กิโลเมตร ประกอบด้วยโค้งทั้งหมด 14 โค้ง เป็นการวิ่งแบบตามเข็มนาฬิกา

สนามที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นบ้านของการแข่งขัน NASCAR สุดโด่งดัง และรายการ Indy 500 ถือกำเนิดตั้งแต่ปี 1909

นับเป็นศูนย์รวมแห่งวงการมอเตอร์สปอร์ตอย่างแท้จริง ซึ่งในอดีตเคยเป็นสนามการแข่งขันระดับโลกอย่าง F1 มาก่อน แต่ในการจัดการแข่งขัน F1 นั้น จะมีการปรับเปลี่ยน Layout ของสนามจากเดิมที่เป็นทรงรี มาเป็น Layout ใหม่ที่มีจำนวนโค้งเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรายการ Moto GP ในช่วงปี 2008-2015 โดยจะใช้ Track layout สำหรับการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ซึ่งมีจำนวนโค้ง 16 โค้ง รวมระยะทาง 4.17 km ทิศทางวิ่งแบบทวนเข็มนาฬิกาซึ่งได้รับการรับรองจากสหพันธ์จักรยานยนต์ระหว่างประเทศ The Fédération Internationale de Motocyclisme (FIM)

Circuit de Spa-Francorchamps, Belgium

Circuit length 7.004 km.

Turns 19

ลักษณะการวิ่งตามเข็มนาฬิกา

เป็นสนามที่ใช้จัดการแข่งขัน F1 ครั้งแรกในปี 1925 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันยกเว้นเพียงปี 2003 และ 2006 เท่านั้น

ถือเป็นสนามที่โปรดปรานของนักแข่งทั่วโลกเนื่องจากมีโค้งขึ้นเนินในตำนานที่เรียกว่า Eau Rogue

จนนักแข่งรุ่นเก่าได้ให้วลีเด็ดเอาไว้ว่า “เป็นโค้งที่ทำให้คุณเปลี่ยนจากวัยรุ่นมาเป็นผู้ชายอย่างเต็มตัว…ถ้าคุณสามารถผ่านมันได้นะ”

Suzuka International Racing Course, Japan

Circuit length 5.807 km

Turns 18

ลักษณะการวิ่งตามเข็มนาฬิกา

นอกจากนั้นยังสามารถปรับรูปแบบสนาม (Configuration) เป็นแบบ East Course มีระยะทางรวม 2.243 km และ West Course 3.475 km อีกด้วย

สนามเก่าแก่ระดับตำนานแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ตั้งอยู่ในจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1962 ถือเป็นสนามแข่งรถแห่งแรกในญี่ปุ่นที่รองรับการแข่งขันในระดับสากล

มีการรายการแข่งขันสุดดังของญี่ปุ่นมากมายมาจัดที่นี่ไม่ว่าจะเป็นรายการ Suzuka 8 Hours, Super GT, D1 Grand Prix, JAPANESE GRAND PRIX และที่ขาดไม่ได้คือ การแข่งขัน Formula 1 

นอกจากนี้แล้วที่นี่ก็ยังมีโซนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สวนสนุก Motopia 

Yas Marina Circuit, UAE

Circuit length 5.554 km

Turns 21

ทิศทางการวิ่งเป็นแบบทวนเข็มนาฬิกา

Abu Dhabi นครแห่งสีสัน เป็นที่ตั้งของสนามแห่งใหม่ในวงการ F1

สนามแห่งนี้เริ่มใช้ในการแข่งขันรถ F1 มาตั้งแต่ปี 2009

ภายใต้การแข่งขันในรูปแบบ Night Race

ซึ่งเป็นสนามแข่งรถ F1 แห่งที่ 2 ในตะวันออกกลางโดยสนามแรกอยู่ใน Bahrain

Chang International Circuit, Buriram

Circuit length 4.554 km

Turns 12

ทิศทางการวิ่งเป็นแบบตามเข็มนาฬิกา

สนามแห่งความภาคภูมิใจของชาวไทยและเป็นสนามที่คนไทยได้มีโอกาสสัมผัสกับเวทีการแข่งขันระดับโลกอย่างใกล้ชิด เป็นสนามแข่งรถแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติว่าเป็นสนามแข่งรถระดับมาตรฐาน FIA Grade 1

เป็นสนามที่อนุญาตให้ใช้จัดการแข่งขันระดับรถ Formula 1 รวมทั้งได้รับการรับรองจากสมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ (FIM) ว่าเป็นสนามแข่งรถระดับมาตรฐาน FIM Grade A

ซึ่งสามารถใช้จัดการแข่งขันระดับ Moto GP ได้อีกด้วย สนามแห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2014 เปิดตัวจากการแข่งขัน Super GT 2014

ก่อนที่จะตอกย้ำการแข่งขันเวทีระดับโลกด้วยรายการ World Superbike Championship 2015 และในปี 2018 ที่ผ่านมาได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับโลกอย่าง Moto GP 2018

How to become a Formula 1 Driver เส้นทางสู่ Formula 1 ที่สุดของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตทางเรียบ

นักแข่ง, ชาวมอเตอร์สปอร์ต หรือผู้ที่หลงใหลในความเร็วทุกคนคงมีความฝันสูงสุดที่เหมือนกันคือ การเป็นนักแข่ง Formula 1 เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการแข่งขัน Formula 1 คือที่สุดของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตทางเรียบ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันรถยนต์สี่ล้อที่ใช้ต้นทุนมหาศาล นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีทางด้านยานยนต์ที่ล้ำสมัยที่สุด และที่สำคัญที่สุดก็คือ การแข่งขัน Formula 1 ถือเป็นสังเวียนของนักแข่งระดับแนวหน้าของโลก ที่นักแข่งนั้นต้องแสดงทักษะการขับที่สั่งสมมาตลอดชีวิต เพื่อนำพาทีมแข่งขึ้นไปยืนอยู่บนโพเดียมให้ได้อย่างภาคภูมิ 

แน่นอนว่าเส้นทางที่จะได้มาซึ่งตำแหน่ง “นักขับ Formula 1” นั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด นักแข่งที่ได้มีโอกาสมาขับ Formula 1 นั้น โดยพื้นฐานแล้วจะต้องได้รับการฝึกฝนทักษะการขับตั้งแต่อายุยังน้อย และจะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นนอกจากพรแสวงที่ต้องไขว่คว้ามาแล้ว “พรสวรรค์” ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักแข่งโดดเด่นขึ้นมา

นักแข่งที่จะก้าวเข้ามาใน Formula 1 ได้นั้นจำเป็นที่จะต้องสร้างผลงานในการแข่งขันในระดับอื่นๆ ก่อน รวมทั้งยังต้องสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทีมแข่ง, สปอนเซอร์ หรือผู้สนับสนุนเล็งเห็นความสามารถ และตัดสินใจเซ็นต์สัญญาว่าจ้างในการขับรถ Formula 1 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักแข่ง Formula 1 หลายๆคน ผ่านการแข่งขัน ดังนี้

1.การแข่งขันโกคาร์ท

นักแข่ง Formula 1 อาจไม่ได้มีเส้นทางเดียวกันทั้งหมดทางเลือกอาจมีหลากหลาย แต่ทุกคนมักเริ่มจากการแข่งขันโกคาร์ท ไม่ว่าจะเป็น Lewis Hamilton แชมป์โลกคนล่าสุด หรือว่าจะเป็น Ayrton Senna นักแข่ง Formula 1 ระดับตำนานต่างก็เคยผ่านการแข่งขัน และเป็นแชมป์การแข่งขันโกคาร์ทระดับนานาชาติแล้วทั้งสิ้น

2.การแข่งขัน Formula 4

เป็นการแข่งขันรถล้อเปิดที่จัดขึ้นเพื่อนักแข่งรุ่นเยาว์เริ่มต้นที่อายุระหว่าง 15 – 19 ปีเท่านั้น นอกจากนี้การแข่งขัน Formula 4 ยังได้รับการขนานนาม และยอมรับว่าเป็นการแข่งขันที่พัฒนานักแข่งเยาวชนที่ดีที่สุดในโลก และที่สำคัญที่สุดการแข่งขันรายการนี้ยังสามารถเก็บสะสมแต้ม FIA F1 Super License ได้อีกด้วย

3.การแข่งขัน Formula 3

สังเวียนถัดมาก็คงจะเป็นการแข่งขันรถยนต์ที่นั่งเดี่ยวแบบล้อเปิดระดับนานาชาติ (Single Seater/ Open-wheel) เป็นการแข่งขันที่จำกัดเฉพาะนักแข่งหน้าใหม่เท่านั้น (Junior Drivers) นอกจากนั้นแล้วรถแข่งในคลาสนี้ยังถูกกำหนดให้มีสเปคใกล้เคียงกันที่สุด เพราะฉะนั้นนักแข่งจึงต้องอาศัยฝีมือเพื่อสร้างความได้เปรียบให้ได้มากที่สุด ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักแข่ง Formula 1 ผู้ที่เข้าแข่งขันในคลาสนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักแข่งมืออาชีพที่สามารถก้าวขึ้นสู่ที่นั่งใน Formula 2 โดยตรง หรือแม้แต่การทดสอบ Formula 1 และที่สุดของความสำเร็จในอาชีพนี้คือขึ้นไปนั่งใน Formula 1 เพราะหากนักแข่งนั้นทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในการแข่งขันหลังจากที่จบฤดูกาลก็จะได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมทีมแข่งของ Formula 1 โดยทันที

4.การแข่งขัน Formula 2

ถือเป็นชั้นที่สองของพีรามิดสำหรับการแข่งขันรถล้อเปิด โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างเส้นทางที่ชัดเจนสำหรับนักแข่งรถที่เริ่มตั้งแต่การแข่งขันโกคาร์ทเป็นต้นไปจนถึง FIA Formula 4, FIA Formula 3 ระดับภูมิภาค, FIA Formula 3, FIA Formula 2 และที่สุดของความสำเร็จนั่นคือ Formula 1 แมวมองสามารถเลือกนักขับเยาวชนที่โดดเด่นจาก Formula 2 หรือ Formula 3 มาร่วมทีมได้ แต่ถึงอย่างนั้น Formula 1 ไม่ได้มีกฎบังคับในการเลือกแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมานักแข่งหลายคนสามารถเข้ามาจากการแข่งขันรายการระดับเยาวชนอื่นๆ ได้เช่นกัน แต่มีกฎที่ทางสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) ผู้ควบคุมการแข่งขัน Formula 1 ตั้งไว้ เช่น การเก็บสะสมคะแนนให้ได้ตามที่กำหนด เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตลงแข่ง Formula 1 หรือที่เรียกว่า Super License โดย FIA จะกำหนดรายการชิงแชมป์ที่จะสามารถได้รับคะแนนเพื่อมาสะสม

ทั้งหมดนี้คือบันไดของการเป็นนักแข่ง Formula 1 แม้จะดูเหมือนเป็นความฝันของใครหลายๆคน แต่กว่าจะได้มานั้นต้องใช้ประสบการณ์ ความสามารถ และความทุ่มเท รวมทั้งฝ่าฟันการแข่งขันที่สูงอย่างมากเพื่อสร้างความสำเร็จให้เป็นจริง

ทำความรู้จักกับสนาม Brands Hatch

ทำความรู้จักกับสนาม Brands Hatch ก่อนส่งแรงเชียร์ไปให้ “น้องเติ้น ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์”

สนาม Brands Hatch ตั้งอยู่ในเมือง Kent ของประเทศอังกฤษ มีโครงสร้างสนามอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน นั่นคือ “Brands Hatch Indy Circuit” มีระยะทาง 1.928 กิโลเมตร (1.198 ไมล์) ประกอบด้วยโค้งทั้งหมด 6 โค้ง และ “Brands Hatch Grand Prix Circuit” มีระยะทาง 3.916 กิโลเมตร (2.433 ไมล์) ประกอบด้วยโค้งทั้งหมด 9 โค้ง

สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1926 เป็นสนามแบบวิ่งทวนเข็มนาฬิกา ต่อมาในปี 1954 ได้มีการเปลี่ยนเป็นเป็นวิ่งแบบตามเข็มนาฬิกาแทน ในปี 2013 สนามแห่งนี้ได้กลายเป็น 1 ในไม่กี่สนามแข่งในโลกที่ได้จัดแข่ง Formula 1, Indycar และ NASCAR

ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นสนามที่จัดการแข่งขันเกิดขึ้นมากมาย เช่น European DTM ซึ่งเป็นการแข่งขันรถทัวร์ริ่งที่เร็วที่สุดในโลก และการแข่งขัน GT World Challenge Europe

สนามแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในสนามของโลกที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดก็ว่าได้

นอกจากนี้ยังเป็นสนามที่มีนักแข่งในตำนานหลายคนได้มาเยือน และได้คว้าชัยชนะในสนามแข่งแห่งนี้มาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อาทิเช่น Stirling Moss, Jim Clark, Barry Sheene, Jack Brabham, Ayrton Senna, Jenson Button, Carl Fogarty และ Lewis Hamilton

มาร่วมลุ้น ร่วมเชียร์ “น้องเติ้น” ในการแข่งขัน British F4 R.7-9 ที่สนาม Brands Hatch (Indy Circuit) ได้ในวันที่ 26-27 มิถุนายนนี้ไปพร้อมๆ กันผ่านทาง Facebook Fanpage : Thailand Super Series

Red Bull Ring ถิ่นกระทิงดุ

หลังจาก Formula 1 มีการแข่งขันที่ Circuit Paul Ricard เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายนผ่านมานั้น ทำเอาสาวกรถสูตรหนึ่งลุ้นกันแบบหายใจรดต้นคอ ใจจดใจจ่อแบบนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ เป็นผลให้หลายๆ คนตั้งหน้าตั้งตารอการแข่งขัน Formula 1 สนามต่อไปที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายนนี้ ว่าแชมป์ 7 สมัยอย่าง Lewis Hamilton และทางทีมจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะสนามต่อไปที่จะจัดขึ้นนั้นคือสนาม Red Bull Ring บ้านของกระทิงดุด้วยแล้วยิ่งห้ามพลาดโดยประการทั้งปวงครับ มาในวันนี้แอดจะขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับสนาม Red Bull Ring กัน เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนการแข่งขัน Formula 1 จะเกิดขึ้นครับ

Red Bull Ring ตั้งอยู่ที่เมือง Spielberg (สปิลเบิร์ก) ประเทศออสเตรียแต่เดิมมีชื่อว่า Osterreichring (อูสเตอร์รีชริง) สร้างขึ้นในปี 1969 ซึ่งแต่เดิมคือสนามบิน Zeltweg (เซลต์เวก) เป็นสนามที่มีความยาวเกือบ 6 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วได้สูงมาก ต่อมาสนามดังกล่าวได้หายไปจากปฏิทินระหว่างปี 1988-1996 และพวกเขากลับมาอีกครั้งในปี 1997 ซึ่งผังสนามได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น ความยาวสนามถูกลดทอนเหลือ 4.326 กิโลเมตรและได้เปลี่ยนชื่อสนามตามชื่อผู้สนับสนุนเป็น A1-Ring จนกระทั่งถึงปี 2003 ทางผู้จัดตัดสินใจให้การแข่งขันปีนั้นเป็นปีสุดท้าย เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีส่งผลกระทบต่อการบริหารการเงินของสนาม ตัวสนามจึงถูกทิ้งร้างและไม่ได้จัดการแข่งขันใดๆ ขึ้นเลย จนกระทั่ง Dietrich Mateschitz (ดีทริช มาเตชิตซ์) เจ้าของกิจการ Red Bull ได้ซื้อสนามแห่งนี้ไปและทำการปรับปรุงขึ้นใหม่จนทำให้สนามเปิดใช้งานสามารถรองรับการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตได้อีกครั้งในปี 2011 และสนามได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Red Bull Ring ในที่สุด 

ผังสนาม Red Bull Ring นั้นมีความยาวสนามต่อรอบอยู่ที่ 4.318 กิโลเมตร ประกอบด้วยโค้งทั้งหมด 10 โค้ง ถือเป็นเป็นพาวเวอร์แทร็คอย่างชัดเจน เนื่องด้วยทางตรงยาว 3 ช่วง ทางตรงของสนามมีความยาวสูงสุดถึง 930 เมตร รองมาอยู่ที่ 795 เมตรและ 766 เมตรตามลำดับ นอกจากนี้ทางตรงยังถูกคั่นด้วยโค้งหักศอก รถแข่งจะต้องเร่งเครื่องจากความเร็วต่ำอยู่หลายครั้ง ซึ่งนั่นทำให้กำลังเครื่องเป็นสิ่งสำคัญมากในสนามแห่งนี้

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก www.motortrivia.com

รถ F3 หรือ Formula 3 คืออะไร? หน้าตาเป็นแบบไหน..อย่างไร..

Formula 3 เป็นคลาสที่ 3 ของการแข่งขันรถล้อเปิด ซึ่งจัดการแข่งขันขึ้นในทวีปยุโรป, ออสเตรเลีย, อเมริกาใต้ และเอเชีย ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักแข่งรถสูตรหนึ่ง หรือ Formula 1 ผู้ที่เข้าแข่งขันในคลาสนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักแข่งมืออาชีพที่สามารถก้าวขึ้นสู่ที่นั่งใน Formula 2 โดยตรง หรือแม้แต่การทดสอบ Formula 1 และที่สุดของความสำเร็จในอาชีพนี้คือขึ้นไปนั่งใน Formula 1

Formula 3 ถูกกำหนดขึ้นโดยสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA ในปี 1950 พัฒนามาจากการแข่งรถหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งโครงรถนั้นมีน้ำหนักเบา และขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ขนาด 500 ซีซี แต่ในปัจจุบันนั้นตัวรถจะมีตัวป้องกันส่วนหน้าคนขับหรือที่เราเรียกว่า “Halo” (เฮโล) เพิ่มเข้ามาพร้อมกับระบบ DRS เต็มรูปแบบเหมือนกับ Formula 1 และ Formula 2

ส่วนเครื่องยนต์ในรถสูตร 3 ได้ถูกพัฒนาเป็นเครื่องยนต์แบบ 6 สูบขนาด 3.4 ลิตรทั้งหมด ซึ่งเครื่องยนต์จะต้องเป็นเครื่องยนต์ที่มีอยู่ในสายการผลิตจากค่ายรถยนต์ และเครื่องยนต์จะต้องถูกปิดผนึกเครื่องโดยผู้จัดการแข่งขันอีกด้วย จึงทำให้ทีมแข่งนั้นไม่สามารถทำการปรับแต่งเครื่องยนต์ได้

Formula 3